หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โรคระบาดทำลาย “ต้นโอ๊ค” ในอังกฤษ



โรคระบาดทำลาย “ต้นโอ๊ค” ในอังกฤษ



 
    อังกฤษกำลังวิตกต่อโรคติดต่อที่ระบาดในต้นโอ๊ค ซึ่งเป็นไม้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อสัตว์น้อยใหญ่ในป่า โดยพบรอยด่างจากของเหลวในลำต้นซึมออกมาจนไม้ใหญ่ยืนต้นตาย นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีต้นไม้หลายพันต้นเป็นโรคนี้ และเชื่อว่าแมลงปีกแข็งมีส่วนให้เกิดโรค อีกทั้งยังจำแนกแบคทีเรียจากต้นที่ตายแล้วเพื่อดูว่ามีแบคทีเรียใดสัมพันธ์กับโรคหรือไม่

      ข้อมูลจากบีบีซีนิวส์ระบุว่า โรคตายเฉียบพลันในต้นโอ๊ค (Acute Oak Decline) กำลังระบาดหนักในอังกฤษ โดยโรคดังกล่าวทำให้ต้นโอ๊คที่โตเต็มที่แล้วมีรอยด่างจากการหลั่งของเหลวออกมาตามลำต้น ซึ่ง ดร.ซานดรา เดนมาน (Dr.Sandra Denman) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากสำนักคณะกรรมการป่าไม้อังกฤษ ให้สัมภาษณ์แก่รายการวิทยุท้องถิ่นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ในอังกฤษ

       ดร.เดนมานกล่าวว่า พวกเขาพบปัญหาดังกล่าวแค่ในอังกฤษ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างแค่ไหน เพราะไม่ได้ทำการสำรวจอย่างเป็นกิจวัตรแต่ก็ประมาณได้ว่ามีต้นโอ๊คหลายพันต้นที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แมลงปีกแข็งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคนี้ และพวกเขากำลังจำแนกแบคทีเรียจากต้นโอ๊คที่ตายแล้วเพื่อหาว่าแบคทีเรียชนิดใดสัมพันธ์กับการระบาดของโรคในครั้งนี้
       
       “แต่เพราะโอ๊คของเราเป็นไม้ประจำถิ่นที่มีฐานพันธุกรรมที่หลากหลาย ดังนั้น เราหวังว่าโอ๊คบางต้นจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อโรคร้ายนี้ด้วย” ดร.เดนมานให้ความเห็น

        โรคดังกล่าวทำให้ต้นโอ๊คตายได้ในเวลา 4-5 ปี และหนึ่งในอาการของโรคคือมีของเหลวสีเข้มไหลออกจากเปลือกต้นโอ๊คไปตามลำต้น ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและการเกษตรของอังกฤษ ได้สนับสนุนทุนวิจัยราว 50 ล้านบาท เพื่อศึกษาโรคนี้ให้เข้าใจมากขึ้น รวมทั้งหาวิธีในการจัดการ

       ด้าน ดร.คีธ เคอร์บี (Dr.Keith Kirby) นักนิเวศวิทยาผืนป่าจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) กล่าวว่า โรคต้นโอ๊คตายเฉียบพลันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจทำให้ต้นโอ๊คขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาวและรอดจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในอดีตมาได้ต้องตายเพราะโรคใหม่นี้ ซึ่งพบว่ากำลังระบาด แม้ว่าการระบาดจะจะเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับศัตรูพืชและโรคอื่นๆ แต่การแพร่ระบาดอย่างช้าๆ นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อคำนึงในแง่ของอายุขัยต้นไม้

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ตามติดสิบปีภารกิจสำรวจดาวอังคารของ "ออพพอร์ทูนิตี้"


ตามติดสิบปีภารกิจสำรวจดาวอังคารของ "ออพพอร์ทูนิตี้"



ก้าวย่างสู่ปีที่ 10 แล้วนับตั้งแต่จากโลกมาของยานสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซา นามเก๋ไก๋ว่า "ออพพอร์ทูนิตี้" หรือ Opportunity ที่แปลว่า ความหวัง นั่นเอง ล่าสุด รถวิ่งบนดาวอังคารลำนี้ออกวิ่งอีกครั้งหนึ่งแล้ว และต้องทำการสำรวจอีกหลายสัปดาห์กันเลยทีเดียว


เป้าหมายของการสำรวจครั้งนี้มีชื่อว่า Solander Point ที่จะทำให้ยานออพพอร์ทูนิตี้ได้เข้าไปสำรวจยันพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศสูงกว่าพื้นที่ที่ชื่อ Cape York ที่สำรวจมาตลอด 20 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองพื้นที่นี้อยู่ทางขอบตะวันตกของ Endeavour Crater ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 กิโลเมตร


"การไปสู่ Solander Point ก็เหมือนกับการเดินขึ้นถนนที่เราจะสามารถมองเห็นภาพตัดขวางของชั้นหินได้" เรย์ อาร์วิดสัน แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รองผู้อำนวยการโครงการนี้เผย


Solander Point ยังมีข้อดีตรงที่ว่าอยู่ไปทางเหนือของดาวอังคาร ที่ถือเป็นข้อดีสำหรับรถสำรวจที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จะได้รับแสงอาทิตย์มากขึ้น และยานก็จะกลับมายังซีกใต้ของดาวอังคารในช่วงหน้าหนาว


"เราขยับขึ้นไปทางเหนือ 15 องศาก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว" จอห์น คาลลาส แห่งองค์การบริการการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซา เผย


ช่วงเวลากลางวันที่สั้นที่สุดของดาวอังคารในช่วงหน้าหนาวครั้งที่ 6 ของดาวอังคารจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 นี้


สำหรับโครงการนี้ นาซาได้ปล่อยรถสำรวจดาวอังคารไปสองคัน คือ ยานสปิริต ในวันที่ 10 มิถุนายน 2003 และยานออพพอร์ทูนิตี้ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2003 ยานทั้งสองถึงดาวอังคารในเดือนมกราคม 2004 และปฏิบัติภารกิจหลักระยะเวลา 3 เดือนประสบความสำเร็จ จึงได้เริ่มทำงานตามภารกิจเสริมมาเป็นเวลาหลายปี ยานทั้งสองพบหลักฐานว่า ดาวอังคารในยุคก่อนนั้น "เปียก" โดยในปี 2010 นั้น ยานสปิริตยุติการปฏิบัติการในช่วงที่เข้าสู่หน้าหนาวหน้าที่ 4 ของดาวอังคาร ส่วนยานออพพอร์ทูนิตี้ก็เริ่มเก่า และการทำงานของข้อต่อบางส่วนก็เริ่มใช้การไม่ได้ แต่ยังสามารถทำงานอื่นๆต่อไปได้ เช่น กระบวนการขุดเจาะสำรวจดิน


ก่อนหน้าที่จะจากย่านที่ชื่อ Cape York ไปเมื่อเดือนที่แล้วนั้น ยานออพพอร์ทูนิตี้ใช้เครื่องมือข่วนหิน สเปกโทรมิเตอร์เอ็กซ์เรย์อนุภาคอัลฟา และกล้องถ่ายภาพระดับไมโครสเกล ทำการสำรวจหินที่เรียกว่า Esperance และค้นพบว่ามีส่วนผสมของดินเหนียวอยู่


"การค้นพบ Esperance นับเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดของทุกอย่างเลย การค้นพบนี้บอกเราว่า เคยมีสภาพแวดล้อมที่ไปเปลี่ยนแร่ธาตุได้เช่นกัน แปลว่า มีน้ำเคลื่อนไหวไปตามหินนี้แน่ๆ" สตีฟ สเควเรส แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เผย


Cape York นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่กว้างมาก แต่ Solander Point นี้จะกว้างกว่าเป็น 10 เท่า และนักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่า เราจะค้นพบอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับดาวอังคารในภารกิจในอนาคตนี้ นอกจากนี้ บริเวณ Endeavour Crater ก็เป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยหินยุคเก่าที่ยานออพพอร์ทูนิตี้น่าจะสำรวจเจอข้อมูลดีๆได้



อ้างอิง:vcharkarn.com/vnews/447020
NASA/Jet Propulsion Laboratory (2013, June 7). Mars rover opportunity trekking toward more layers. ScienceDaily. Retrieved June 10, 2013, from http://www.sciencedaily.com/releases/2013/06/130607153229.htm

เผยข้อมูลการวิ่งของเสือชีตาร์


เผยข้อมูลการวิ่งของเสือชีตาร์



น่าทึ่งไม่ใช่เล่น เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ ประเทศอังกฤษ จับข้อมูลรายละเอียดการล่าเหยื่อของเสือชีตาร์ในธรรมชาติจากเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีพีเอส วงแหวนตรวจจับการเคลื่อนที่ และอื่นๆ


ศาสตราจารย์อลัน วิลสัน และทีมงานสามารถบันทึกความเร็วสูงสุดของการวิ่งของเสือชีตาร์ได้ถึง 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว โดยงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature แล้ว


ก่อนหน้านี้ การวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของเสือชีตาร์ทำได้เพียงแค่การวัดความเร็วเทียบกับเหยื่อในทางเส้นตรง เช่น การวัดเทียบกับสุนัขเกรย์ฮาวน์ที่ชีตาร์สามารถล่าได้ แต่สำหรับการเสือชีตาร์ในธรรมชาตินั้น การประมาณความเร็วก็ทำได้เพียงแค่การศึกษาจากกล้องภาพยนตร์หรือการสังเกตการณ์โดยตรงในธรรมชาติ ในช่วงเวลาจริงที่ชีตาร์ออกล่าเหยื่อ


ล่าสุด ศาสตราจารย์วิลสัน และทีมงาน ได้พัฒนาวงแหวนติดตามที่ฝังอุปกรณ์จีพีเอสและเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์วัดการเคลื่อนไหว (อุปกรณ์วัดความเร่ง สนามแม่เหล็ก และไจโรสโคป) ที่สามารถส่งข้อมูลของตำแหน่งที่ประมวผลแล้ว ความเร็ว และข้อมูลเซนเซอร์ต่างๆจากการเคลื่อนไหวของชีตาร์มายังศูนย์ประมวลผลข้อมูลโดยตรง และวงแหวนดังกล่าวใช้พลังงานจากแผงสุริยะ แบตเตอรี่ที่ประจุไฟใหม่ได้และแบบไม่ได้


ซอฟต์แวร์ของวงแหวนติดตามจะทำการตรวจจับความเร่งที่เกิดขึ้นแล้วสร้างเป็นข้อมูลสรุปการวิ่งและตรวจจับเหตุการณ์การล่าเหยื่อของชีตาร์ นอกจากนี้ยังตรวจจับสถานะการทำงานของวงแหวนด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ เวลาในการดเนินการในแต่ละวัน จนกระทั่ง นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลของการล่าเหยื่อออกมา


โดยรวมแล้ว นักวิจัยสามารถบันทึกข้อมูลการวิ่งของเสือชีตาร์ตัวเมียและตัวผู้รวมสามตัวได้ 367 ครั้งจากการเก็บข้อมูลยาวนานถึง 17 เดือน มีการล่าเหยื่อเกิดขึ้นหลายๆครั้งที่ประสบผลสำเร็จ และข้อมูลก็ถูกส่งมาอย่างชัดเจน ละเอียด


จากข้อมูลพบว่า เสือชีตาร์จะวิ่งด้วยความเร็วเริ่มต้นพร้อมทั้งมีความเร่ง จากนั้นเสือชีตาร์จะลดความเร่งนั้นลงและเปลี่ยนกลยุทธ์ก่อนที่จะจับเหยื่อ นักวิจัยพบว่า เสือชีตาร์มีการเร่งความเร็วเกินหนึ่งช่วงประมาณ 1 ใน 3 ของข้อมูลการล่าเหยื่อทั้งหมด ในกรณีที่ประสบความเร็จจากการล่าเหยื่อนั้นนักวิจัยก็สามารถรับรู้ได้ด้วยการที่ความเร็วในการวิ่งลดลงเหลือศูนย์ ซึ่งหมายความว่า ได้เหยื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหยื่อในกรณีนี้คือ ละมั่งแอฟริกา"อิมพาลา"


ระยะทางเฉลี่ยในการวิ่งนั้นอยู่ที่ 173 เมตร ระยะทางที่วิ่งสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 407-559 เมตร และมีการวิ่งโดยเฉลี่ย 1.3 ครั้งต่อวัน และแม้จะไม่ได้เหยื่อ ถ้าเฉลี่ยแล้วการวิ่งด้วยความเร็วสูงของเสือชีตาร์ก็ทำให้ในวันๆหนึ่ง ชีตาร์จะวิ่งประมาณ 6,040 เมตร


นักวิจัยยังได้พบถึงปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อด้วย การล่าเหยื่อที่ประสบความสำเร็จนั้นมักจะมีการลดความเร่งลงอย่างมาก แต่จะไม่ห่างจากความเร่งสูงสุดมากเท่าไหร่ นอกจากนี้ เรื่องของระยะทางที่วิ่งมา จำนวนของการวิ่ง และองศาการเลี้ยวก็มีผลกับการล่าเหยื่อเช่นกัน ตัวชี้วัดเหล่านี้มักจะบอกถึงผลของการล่าเหยื่อได้ในช่วงท้ายๆ เพราะช่วงแรกนั้นบ่งบอกอะไรไม่ได้เพราะชีตาร์ต้องเก็บพลังงานหรือทำกิจกรรมที่ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ


ความเร่งสูงสุดของเสือชีตาร์นั้นสูงกว่าของม้าแข่งถึง 2 เท่า และเกิดกว่าความเร็วของการทดลองที่วัดจากการล่าสุนัขเกรย์ฮาวน์ไปเยอะ ความเร่งของเสือชีตาร์ระดับนี้มากกว่าของอูเซน โบลต์ ราชานักวิ่งร้อยเมตรของโลกถึงสี่เท่า


การบังคับทิศทางและการต้น ก็ยังมีผลต่อความสำเร็จในการล่าเหยื่อด้วย และความเร่งสูงสุดนั้น นักวิจัยก็พบว่า อยู่ที่ 13 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง


ศาสตราจารย์อลัน วิลสัน เผยว่า "แม้ว่าเสือชีตาร์จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก แต่เราก็แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการวิ่งจริงๆของสัตว์ชนิดนี้เลย โดยเฉพาะในเรื่องของการล่าเหยื่อ เทคโนโลยีของเราทำให้เราสามารถจับรายละเอียดของการเคลื่อนไหวในการออกล่าเหยื่อจริงๆได้เป็นครั้งแรก และผลการศึกษาก็ทำให้เราสามารถบันทึกความเร็วสูงสุด ความเร่งของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ความหน่วง และมวลร่างกายได้"


"ในอนาคต ข้อมูลที่คล้ายๆกันนี้กับสัตว์ตัวอื่นๆก็จะทำให้เรารู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการวิ่ง ความคล่องตัว และความอดทนของสัตว์ได้ จะทำให้เรารู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ในธรรมชาติได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราอาจจะได้ข้อมูลการคัดเลือกโดยธรรมชาติของสัตว์บางชนิด ข้อมูลการอยู่อาศัย การสร้างสังคม ที่พักอาศัย และการล่าเหยื่อได้"


สำหรับเสือชีตาร์ที่ศึกษาในการทดลองครั้งนี้อยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์นักล่าบอตสวานา ในพื้นที่บอตสวานาทางตอนเหนือของโอคาวานโกเดลตา

Royal Veterinary College (2013, June 14). Wild cheetah accelerate fast and reach speeds of up to 58 miles per hour during a hunt. ScienceDaily. Retrieved June 16, 2013, from http://www.sciencedaily.com/releases/2013/06/130614082900.htm

งานวิจัย: A. M. Wilson, J. C. Lowe, K. Roskilly, P. E. Hudson, K. A. Golabek, J. W. McNutt. Locomotion dynamics of hunting in wild cheetahs. Nature, 2013; 498 (7453): 185 DOI: 10.1038/nature12295

โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์มีส่วนช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวในหนู


โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์มีส่วนช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวในหนู




นักวิจัยจากเมืองเบอร์ลินและเมืองมิวนิคที่เยอรมันนี และจากเมืองอ็อกฟอร์ดที่อังกฤษนั้นได้เปิดเผยว่ามีโปรตีนตัวหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์นั้นควบคุมพัฒนาการของเยื่อหุ้มมัดกล้ามเนื้อและส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของหนูที่ไม่มีโปรตีนตัวดังกล่าวหรือถูกสารยับยั้งไว้ไม่ให้ทำงาน ซึ่งผลการทดลองได้ชี้ให้เห็นว่าตัวยาที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อส่งผลกับโปรตีน beta-secretase-1 โดยเฉพาะนั้น อาจจะมีผลค้างเคียงจากการรักษาโรคอัลไซเมอร์ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติกับการเคลื่อไหวร่างกายได้



โรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นอาการทางประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO นั้นคาดการณ์ไว้ว่ามีคนประมาณ 18 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และตัวเลขดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้น 34 ล้านคนภายในปี 2025 อีกด้วย ทางนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าโปรตีน beta-secretase-1 หรืิอ Bace1 ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ โดย Bace1 จะแยกโปรตีนต้นกำเนิด amyloid และสร้างเปปไทด์ Abeta ที่สร้างความเสียดายและสั่งสมตัวในสมอง นำไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ และในตอนนี้ พวกเขาก็สามารถเปิดเผยถึงการทำงานของโปรตีน Bace1 ได้อย่างละเอียดมากขึ้นด้วย



“ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าหนูที่ไม่มีโปรตีน Bace1 หรือถูกให้สารยับยั้งเอนไซม์ตัวดังกล่าวนั้นประสบปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายและการเดิน อีกทั้งยังแสดงถึงระดับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ต่ำด้วย” Carmen Birchmeier, หนึ่งในผู้วิจัยกล่าว “นอกเหนือจากนั้นแล้ว เรายังสามารถแสดงให้เห็นได้ด้วยว่าการทำงานร่วมกันของ Bace1 และโปรตีน neuregulin-1 หรือ Nrg1 นั้นจำเป็นต่อการรักษาเยื่อหุ้มมัดกล้ามและรักษาไว้ซึ่งระบบการเคลื่อไหวของร่างกายด้วย”



เยื่อหุ้มมัดกล้ามเนื้อนั้นเป็นอวัยวะรับความรู้สึกที่พบได้ตลอดกล้ามเนื้อของสัตว์มีกระดูกสันหลังซึ่งมีหน้าที่ตรวจดูการยืดตัวของกล้ามเนื้อและส่งความรู้สึกถึงตำแหน่งของร่างกายไปยังสมอง เหล่านักวิจัยได้ใช้การวิเคราะห์พันธุกรรมเพื่อดูว่า Bace1 นั้นทำงานอย่างไรในหนู “ถ้าหากความเข้มข้นของสัญญาณของ neuregulin-1 ชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า lgNrg1 นั้นลดต่ำลงเรื่อยๆแล้วล่ะก็ ภาวะความเสียหายหรือบกพร่องในพัฒนาการของเยื่อหุ้มมัดกล้ามเนื้อของหนูก็จะร้ายแรงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่า Bace1 นั้นจะจำเป็นในการที่จะให้ lgNrg1 นั้นทำงานได้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน การสูญเสียการทำงานของ lgNrg1 นั้นทำให้เกิดปัญหากับการเคลื่อนไหวร่างกายและการทรงตัวด้วย” Cyril Cheret ซึ่งผู้นำการวิจัยกล่าว



ผู้ผลิตยาตั้งหลายนั้นต่างให้ความสนใจในการหยุดการทำงานของโปรตีน Bace1 เนื่องจากว่ามันเป็นหนทางที่ดูมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งถ้าโปรตีนดังกล่าวถูกยับยั้งแล้วล่ะก็ การเกิดขึ้นของโปรตีนอื่นๆที่จะไปทำความเสียหายให้แก่สมองก็จะถูกยับยั้งไปด้วยเช่นกัน “แต่ข้อมูลของเราชี้ให้เห็นว่าผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการยับยั้งโปรตีน Bace1 ไว้ในระยะยาวนั้นก็คือการรบกวนพัฒนาการของเยื่อหุ้มมัดกล้ามเนื้อและความบกพร่องของการเคลื่อนไหวร่างกาย การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญต่อนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังมองหาหนทางพัฒนาตัวยาที่จะไปส่งผลต่อโปรตีน Bace1 และควรจะได้รับความสนใจ” Birchmeier กล่าว 



ในตอนนี้ มีตัวยายับยั้งโปรตีน Bace1 อยู่หลายตัวที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบในขั้นตอนที่ 2 และ 3 สำหรับการใช้ทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคอัลไซเมอร์แล้ว



วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โคลนหนูจากเลือดหยดเดียว


โคลนหนูจากเลือดหยดเดียว






      นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นโคลนหนูขึ้นจากเลือดหยดเดียว โดยใช้เลือดจากหางของหนูตัวให้เพื่อผลิต “หนูโคลน” ที่ได้ออกมาเป็นเพศเมีย มีอายุยืนตามปกติและออกลูกได้
     
      การโคลนหนูดังกล่าวเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ริเกนไบโอรเสิร์ช (Riken BioResource Center) ในสึคุบะ ญี่ปุ่น ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า พวกเขาได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานลงวารสารไบโอโลจีออฟรีโปรดัคชัน (Biology of Reproduction)
    
     หนูที่ถูกโคลนออกมานั้นมีชีวิตยืนยาวตามปกติและออกลูกได้ ซึ่งกว่าจะได้หนูโคลนนิงดังกล่าวทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้สำเนาที่ถอดแบบพันธุกรรมของหนูตัวหนึ่งถึง 600 สำเนา โดยอาศัยพันธุกรรมจากหลายส่วนในร่างกายหนู รวมถึงเซลล์เม็ดขาวจากต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูกและตับ
    
     ทั้งนี้ ทีมวิจัยญี่ปุ่นพยายามพิสูจน์ว่า เซลล์เลือดที่ไหลเวียนในร่างกายนั้นสามารถนำไปโคลนได้เช่นกัน โดยเป้าหมายเพื่อหาแหล่งพันธุกรรมที่หาได้ง่ายจากเซลล์เพื่อโคลนหนูทดลองที่มีสายพันธุ์มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์
    
     งานวิจัยดังกล่าวนำโดย อัตซูโอะ โอกูระ (Atsuo Ogura) จากศูนย์ริเกนไบโอซอร์ส ซึ่งพวกเขาได้นำเลือดจากหางของหนูบริจาค จากนั้นยกเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวออก ใช้เฉพาะนิวเคลียสของเซลล์เพื่อทดลองโคลนนิง เทคนิคเดียวกับการผลิตแกะดอลลี่ (Dolly) สัตว์เลี้ยงลูกนมโคลนนิงตัวแรกในเอดินบะระ สหราชอาณาจักร
    
     เทคนิคดังกล่าวคือการย้ายฝากนิวเคลียสเซลล์ร่างกาย (somatic cell nuclear transfer) ซึ่งเป็นการย้ายฝากนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายตัวเต็มวัย เช่น เลือด หรือ เซลล์ผิวหนัง เป็นต้น เข้าไปยังเซลล์ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสม และถูกนำนิวเคลียสออก
    
     บีบีซีนิวส์ระบุว่าในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารไบโอโลจีออฟรีโปรดัคชันนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้แจงถึงการศึกษาดังกล่าวว่า เป็นการสาธิตครั้งแรกว่าหนูถูกโคลนได้ด้วยการใช้นิวเคลียสของเซลล์เลือด และใช้เซลล์ที่ได้มาโคลนทันทีหลังเก็บจากสัตว์ตัวให้พันธุกรรม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์เหล่านั้นด้วย
     
       ทีมวิจัยระบุว่าเทคนิคนี้จะประยุกต์ได้สำหรับการสร้างสำเนาสายพันธุ์หนูที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งไม่อาจรักษาไว้ด้วยเทคนิคขยายพันธุ์อื่นแบบเดิมๆ อย่างการเพาะเลี้ยงจากหลอดแก้วแบบไอวีเอฟ (in vitro fertilisation: IVF) หรือการฉีดอสุจิเข้าไปผสมโดยตรงแบบอิคซี่ (intracytoplasmic sperm injection: ICSI) ได้
    
      นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นทีมนี้ใช้เวลาอยู่หลายปีในการโคลนหนู และได้เผยให้เห็นหนูเกือบ 600 ตัวที่ได้จากการโคลนหนูตัวเดียวอย่างต่อเนื่อง 25 รอบ โดยงานวิจัยนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อการผลิตขนาดใหญ่สำหรับสัตว์ที่มีคุณภาพสูงในระดับฟาร์มหรือเพื่อการอนุรักษ์
    
     ด้าน ศ.โรบิน โลเวลล์-แบดจ์ (Professor Robin Lovell-Badge) จากสถาบันวิจัยการแพทย์การแพทย์เอ็มอาร์ซี (MRC National Institute of Medical Research) ในลอนดอน อังกฤษ ให้ความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ ที่ได้จากงานวิจัยก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่จะโคลนหนูจากเซลล์เต็มวัยหลายๆ ชนิด ซึ่งรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วย
   
    โลเวลล์-แบดจ์กล่าวว่า การโคลนจากเซลล์เลือดนี้ให้ประสิทธิภาพที่ดีมาก ซึ่งบ่งบอกว่าแม้แต่เลือดหยดเล็กๆ ก็เพียงพอที่จะใช้ในการโคลนเพื่อเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตที่หาได้ยากหรือเป็นชนิดที่มีคุณค่ามากๆ.