หลับไม่สนิท...ผลพวงอาจมาจาก “พระจันทร์เต็มดวง”
มีคำร่ำลือเกี่ยวกับผลพวงจาก “พระจันทร์เต็มดวง” มากมายเกี่ยวกับการกระตุ้นความก้าวร้าวของคน แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัด ยกเว้นงานวิจัยล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นหลักฐานแรกที่เชื่อถือได้ว่าอิทธิพลของดวงจันทร์นั้นส่งผลกระทบให้มนุษย์นอนหลับไม่สนิท
พระจันทร์ในภาษาลาตินคือ “ลูนา” (Luna) ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก “ลูนาติก” (lunatic) ที่หมายถึงคนวิกลจริต ทว่านักวิจัยได้ทดลองให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ดวงจันทร์ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ อ้างตามรายงานของไลฟ์ไซน์ ซึ่งระบุอีกว่ามีการศึกษาจำนวนน้อยที่พบความเชื่อมโยงอันไม่มีน้ำหนักนัก เกี่ยวกับความก้าวร้าวรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยการ ศึกษาเมื่อปี 2010 พบว่าไม่ได้มีอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวง
อย่างไรก็ดี คริสเตียน คาโจเคน (Christian Cajochen) นักชีววิยาลำดับเวลาและนักวิจัยด้านการนอนจากโรงพยาบาลบำบัดจิตเวชแห่งมหาวิยาลัยบาเซล (University of Basel) ในสวิตเซอร์แลนด์ เกิดความสงสัยในเรื่องที่มีคนบ่นเกี่ยวกับการนอนหลับไม่สนิทไม่ในช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวง
คาโจเคนและเพื่อนร่วมงานได้ร่วมกันเตรียมห้องปฏิบัติการที่พร้อมสำหรับศึกษาการนอนหลับ ซึ่งผลการศึกษาของพวกเขาอาจแสดงถึงหลักฐานว่าดวงจันทร์ส่งผลกระทบต่อคนได้ เขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์พบว่าวัฏจักรของดวงจันทร์นั้นน่าจะมีอิทธิพลต่อการนอนหลับของคน แม้ว่าคนๆ นั้นจะไม่ได้เห็นดวงจันทร์หรือทราบถึงปรากฏการณืข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ก็ตาม
ตลอดเวลา 4 ปีของการศึกษาเรื่องดังกล่าว ทีมวิจัยได้เฝ้าสังเกตปฏิกิริยาในสมอง การเคลื่อนไหวของดวงตา และการหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มอาสาสมัคร 33 คนในห้องปฏิบัติการขณะที่อาสาสมัครกำลังหลับใหล โดยผู้เข้ารับการทดลองต่างเป็นผู้มีสุขภาพดี ไม่มีปัญหาการนอนหลับ และไม่เคยใช้ยาเสพติดหรือรับยารักษาโรคใดๆ
หลังศึกษาข้อมูลของอาสาสมัครแล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่าในช่วงพระจันทร์เต็มดวงนั้น ปฏิกิริยาในสมองที่มีความสัมพันธ์กับการหลับลึกได้ลดลง 30% และอาสาสมัครต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยนานขึ้น 5 นาที ก่อนหลับใหล และนอนหลับได้น้อยลง 20 นาทีตลอดคืนพระจันทร์เต็มดวง อาสาสมัครยังมีระดับ “เมลาโทนิน” (melatonin) ฮอร์โมนที่ควบคุมการหลับและการตื่นลดลงด้วย
ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินมากขึ้นเมื่อยิ่งมืด และจะหลั่งน้อยลงเมื่อมีแสงสว่างรบกวน หากแต่รายงานของบีบีซีนิวส์อธิบายถึงการทดลองว่า อาสาสมัครไม่ล่วงรู้ถึงจุดหมายของการทดลอง และระหว่างเข้านอนพวกเขาก็ไม่ได้รับแสงจันทร์ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปจากการศึกษาว่า แม้ไม่เห็นแสงจันทร์แต่คาบการเกิดข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ก็ส่งผลต่อการนอน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยไม่ได้เตรียมห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาผลกระทบจากดวงจันทร์มาตั้งแต่ต้น แต่ได้ความคิดดังกล่าวจากการคุยกันระหว่างดื่มในผับแห่งหนึ่งช่วงพระจันทร์เต็มดวงพอดี แล้วเกิดแนวคิดดังกล่าวขึ้น จึงได้ศึกษาข้อมูลเก่าๆ เกี่ยวกับการนอนหลับของอาสาสมัครดูว่าปัญหาการนอนระหว่างพระจันทร์เต็มดวงหรือไม่
คาโจเคนให้ความเห็นแก่ไลฟ์ไซน์ว่า เขาใช้เวลานานกว่า 4 ปีกว่าจะตัดสินใจตีพิมพ์การค้นพบของเขา เพราะเขาเองก็ไม่เชื่อในผลที่ได้ และมีความสงสัยต่อสิ่งที่ค้นพบ จึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ผู้อื่นร่วมตรวจสอบการค้นพบนี้ด้วยการทดลองซ้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น