หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รู้ไหมว่า? โลมามี "ชื่อ" ไว้เรียกกัน


รู้ไหมว่า? โลมามี "ชื่อ" ไว้เรียกกัน


นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่า โลมาร้องเรียกตัวอื่นด้วย "ชื่อ" ที่เป็นเสียงผิวปากที่เจาะจงสำหรับโลมาแต่ละตัว ชี้อาจช่วยให้เข้าใจพัฒนาการสื่อสารในคนได้ 
       
       นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า โลมาใช้วิธีผิวปากที่มีเอกลักษณ์ เพื่อแทน "ชื่อ" ในแบบที่มนุษย์ใช้เรียกขานกัน โดยทีมจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (University of St Andrews) ใสก็อตแลนด์ พบว่าเมื่อโลมาได้ยินเสียงผิวปากแบบเฉพาะของตัวเองจากตัวอื่นก็จะตอบสนองต่อเสียงเรียกนั้น
       
       บีบีซีนิวส์ระบุว่า สงสัยกันมานานแล้วว่า โลมาใช้วิธีผิวปากเรียกชื่อกัน และงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า การผิวปากดังกล่าวถูกใช้บ่อยมาก และโลมาในฝูงก็เรียนรู้ที่จะลอกเลียนเสียงที่มีลักษณะจำเพาะนั้น แต่การศึกษาของนักวิจัยากสก็อตแลนด์นี้เป็นครั้งแรกของการไขคำตอบว่า โลมาผิวปากเช่นนั้นเพื่อใช้แทนชื่อ
       
       เพื่อศึกษาเรื่องนี้ นักวิจัยได้บันทึกพฤติกรรมของโลมาปากขวดในธรรมชาติ เพื่อจับเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะดักล่าว จากนั้นปล่อยเสียงเรียกที่บันทึกไว้กลับไปด้วยลำโพงใต้น้ำ ซึ่งมีเสียงผิวปากของโลมากลุ่มอื่นด้วย แต่พบว่าโลมาจะส่งเสียงตอบกลับเฉพาะเสียงของตัวเองเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่าเป็นการตอบสนองเหมือนที่คนเราถูกเรียกชื่อของตัวเอน
       
       ดร.วินเซนต์ ฌานิค (Dr.Vincent Janik) ผู้วิจัยจากหน่วยวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของเซนต์แอนดรูวส์ กล่าวว่า โลมาอาศัยอยู่ไกลชายฝั่ง ซึ่งไม่มีจุดสังเกตใดๆ และพวกมันต้องอยู่เป็นกลุ่ม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบที่จะช่วยให้พวกมันอยู่รวมฝูงได้ และการผิกปากดังกล่าวน่าจะช่วยให้โลมาอยู่รวมฝูงได้อย่างเหนียวแน่นท่ามกลางผืนน้ำมหาศาล
       
       "เกือบตลอดเวลาที่พวกมันไม่อาจมองเห็นกัน และไม่สามารถใช้การดมกลิ่นกัน ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการจำแนกกัน และพวกมันไม่มีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ใดนานๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีรังหรือรูให้พวกมันกลับไป" ดร.ฌานิคกล่าว
       
       นักวิจัยเชื่อว่าการศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่พบการสื่อสารแบบนี้ในสัตว์ แม้ว่ามีการศึกษาอื่นที่บอกว่ามีนกแก้วบางสปีชีส์ที่อาจใช้เสียงเพื่อระบุนกตัวอื่นๆ ในกลุ่ม ซึ่ง ดร.ฌานิคให้ความเห็นว่า การเข้าใจว่าทักษะเหล่านี้มีวิวัฒนาการอย่างไร ในสัตว์หลายๆ กลุ่ม จะบอกเราได้มากว่าการสื่อสารในมนุษย์นั้นมีพัฒนาการมาอย่างไร
       
       การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น